สารบัญ
ธรรมนูญของสมาคมรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย

หมวดที่ 1 ความทั่วไป
หมวดที่ 2 สมาชิก
หมวดที่ 3 การดำเนินกิจการของสมาคม
หมวดที่ 4 การประชุมใหญ่
หมวดที่ 5 การเงินและทรัพย์สิน
หมวดที่ 6 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม
หมวดที่ 7 บทเฉพาะกาล

ข้อบังคับของสมาคมรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย
หมวดที่ 1 ความทั่วไป
ข้อ 1. สมาคมนี้ชื่อว่า : สมาคมรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย
ย่อว่า : ส.ร.ร.ท. เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า The Thai Society of Vascular and Interventional Radiology ย่อว่า TSVIR
ข้อ 2 เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็นรูป งูพันรอบหลอดเอกซเรย์ในลักษณะตั้งฉาก มีเข็มเจาะหลอดเลือดในการทำ angiogram , ลวดนำ และบัลลูนขยายหลอดเลือดพาดทะแยงประมาณ 15 องศา อยู่ด้านหลังงูและหลอดเอกซเรย์ มีขอบวงกลมล้อมรอบ 2 ชั้น และระหว่างขอบวงกลมสองชั้นมีตัวหนังสือชื่อสมาคมเป็นภาษาไทยอยู่ด้านบน ส่วนด้านล่างเป็นชื่อสมาคมเป็นภาษาอังกฤษ ช่องว่างชื่อสมาคมทั้งสองภาษาจะเป็นปี พ.ศ. ( ซ้ายมือ) และปี ค.ศ. (ขวามือ)ที่ก่อตั้งสมาคม
มีความหมายว่า : เป็นสมาคมทางวิชาการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาและการตรวจวินิจฉัยโรค (รูปงู) โดยอาศัยวิธีการของรังสีวินิจฉัย (รูปหลอดเอกซเรย์) ช่วยตรวจนำทางในการผ่านเครื่องมือสำหรับการวินิจฉัยและการรักษาโรค (รูปเข็มเจาะเลือด, ลวดนำ และบัลลูนขยายหลอดเลือด) เข้าสู่ร่างกายโดยไม่ต้องทำการผ่าตัด เป็นสมาคมที่เริ่มก่อตั้งขึ้นในรูปของชมรมเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2536 ( ค.ศ. 1933)

ข้อ 3 สำนักงานของสมาคมฯตั้งอยู่ ณ โรงเรียนสวนบัว เลขที่ 16/1 ซอยราชครู ( พหลโยธิน 5) ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
ข้อ 4 วัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อ :
4.1 เป็นศูนย์กลางส่งเสริมความรู้ทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาให้ก้าวหน้าทั้งด้านความรู้พื้นฐาน ทักษะ และงานวิจัย
4.2 จัดให้มีการประชุมวิชาการเป็นระยะๆ โดยสม่ำเสมอ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ เผยแพร่ความรู้ สอนแสดงและฝึกอบรมฯ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น โดยร่วมมือประสานงานกับองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4.3 ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างสมาชิก
4.4 ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ ความรู้ที่เกี่ยวกับวิชาการนี้แก่ประชาชนและองค์การต่างๆ ตามความเหมาะสม
4.5 สมาคมนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่มุ่งหาประโยชน์ในรูปแบบของการค้า


หมวดที่ 2 สมาชิก
ข้อ 5 สมาชิกของสมาคมมี 4 ประเภทคือ :
5.1 สมาชิกสามัญ : ได้แก่แพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ และนักรังสีเทคนิค ผู้ซึ่งมีความสนใจและได้ประจำทำงานในด้านรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือเป็นผู้มีบัตรแสดงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่สมาคมนี้รับรอง
5.2 สมาชิกวิสามัญ : ได้แก่บุคลากรในหัวข้อ 5.1 ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติงานในวิชารังสีวิทยา สาขาอื่น และได้ประจำทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือเป็นผู้มีบัตรแสดงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่สมาคมนี้รับรอง
5.3 สมาชิกกิติมศักดิ์ : ได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการได้มีมติเป็นอกฉันท์ให้เชิญเป็นสมาชิก เพื่อเป็นเกียรติแก่สมาคม
5.4 สมาชิกสมทบ : ได้แก่ผู้ที่สนใจงานทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา ซึ่งคณะกรรมการของสมาคมนี้รับรอง เช่นแพทย์ประจำบ้านรังสีวิทยา , เจ้าหน้าที่ขององค์การหรือสมาคม , บริษัท, ห้างร้าน ที่มีความสนใจและให้การสนับสนุนงานทางด้านนี้เป็นต้น
ข้อ 6 สมาชิกต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้ :
6.1 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
6.2 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
6.3 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษ
ข้อ 7 ค่าทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม :
7.1 สมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญจะต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก 100.00 บาท
สมาชิกประเภทรายปีจะต้องเสียค่าบำรุงปีละ 400.00 บาท
สมาชิกประเภทตลอดชีพจะต้องเสียค่าบำรุง 2000.00 บาท
7.2 สมาชิกกิติมศักดิ์ : ไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงสมาคม
7.3 สมาชิกสมทบ : จะต้องเสียค่าบำรุงปีละ 200.00 บาท และค่าลงทะเบียนครั้งแรก 100.00 บาท
ข้อ 8 การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม :
8.1 ผู้สมัครจะต้องยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขาธิการโดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย 1 คน
8.2 ให้เลขาธิการแจ้งให้คณะกรรมการอำนวยการทราบ เมื่อคณะกรรมการอำนวยการลงมติรับเป็นสมาชิกแล้วให้เลขาธิการทำหนังสือแจ้งให้ทราบโดยเร็ว
ข้อ 9 เมื่อผู้สมัครได้รับหนังสือแจ้งจากเลขาธิการสมาคมแล้วให้ชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง สมาคมจะถือว่าผู้สมัครใหม่เป็นสมาชิกเรียบร้อยแล้วเมื่อ :
ก ชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงตามระเบียบของสมาคมเรียบร้อยแล้ว
ข ผ่านการรับรองของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี
ข้อ 10 สมาชิกภาพของสมาชิกกิติมศักดิ์ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ได้มาถึงยังสมาคม
ข้อ 11 สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้ :-
11.1 ตาย
11.2 ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้
พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
11.3 ขาดคุณสมบัติของสมาชิก (ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น 3 ประการ )
11.4 ที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกหรือคณะกรรมการได้ลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนเพราะ 
สมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสียหายมาสู่สมาคม
11.5 ขาดชำระค่าบำรุงตามระเบียบที่วางไว้
ข้อ 12 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
12.1 สมาชิสามัญมีสิทธิที่จะเสนอความคิดเห็น และลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับกิจการของสมาคม ต่อคณะกรรมการอำนวยการ หรือต่อที่ประชุมใหญ่ได้คนละ 1 เสียง
12.2 สมาชิกสามัญมีสิทธิที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการอำนวยการของสมาคมได้ตามระเบีบยปฏิบัติของสมาคมที่กำหนดไว้
12.3 สมาชิกสามัญมีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเอกสาร และบัญชีทรัพย์สินของสมาคมได้
12.4 สมาชิสามัญมีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
12.5 สมาชิกทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมประชุมในที่ประชุมใหญ่ได้ทั้งสามัญและวิสามัญ
12.6 สมาชิกทุกคนมีสิทธิได้รับแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับการประชุมต่างๆ ของสมาคม หรือการประชุมทางวิชาการของสมาคมอื่นที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกของสมาคม , วารสารของสมาคม (ถ้ามี) , การเปลี่ยนแปลงในระเบียบการต่างๆของสมาคม เป็นระยะๆ ตามความเหมาะสม
12.7 สมาชิกทุกคนมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสมาคม
12.8 สมาชิกทุกคนมีหน้าที่จะต้องประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
12.9 สมาชิกทุกคนมีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆของสมาคม
12.10 สมาชิกทุกคนมีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
12.11 สมาชิกทุกคนมีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เห็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย


หมวดที่ 3 การดำเนินกิจการของสมาคม
ข้อ 13 . ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย 10 คน อย่างมากไม่เกิน 25 คน คณะกรรมการนี้ ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคมและให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ เลือกตั้งกันเองเป็นนายกสมาคม 1 คน และอุปนายกสมาคม 2 คน สำหรับตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่น ให้นายกเป็นผู้แต่งตั้งผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆของสมาคม ตามที่ได้กำหนดไว้ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้
13.1 นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคมเป็นผู้แทนสมาคมใน 
การติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะ 
กรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคม
13.2 อุปนายกคนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม ปฏิบัติตาม 
หน้าที่ที่นายกสมาคมมอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายก 
สมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทน 
นายกสมาคม ให้อุปนายกตามลำดับ ตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
13.2 อุปนายกคนที่ 2 ทำหน้าที่แทนอุปนายกคนที่ 1 เมื่ออุปนายกคนที่ 1 ไม่อยู่ ฯลฯ
13.3 เลขาธิการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมดเป็นหัวหน้า เจ้าหน้าที่ 
ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของ 
นายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ ของ 
สมาคม
13.4 ประธานวิชาการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบรรยาย การสอนแสดง การฝึกอบรมทางวิชาการ
เกี่ยวกับรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาในสาขาวิชาที่คณะ 
กรรมการบริหารสมาคมให้ความเห็นชอบ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ 
สมาคม
13.5 ประธานฝ่ายสารสนเทศ ทำหน้าที่รวบรวมจัดทำบันทึกข้อมูลทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ
วิชาการนี้โดยร่วมมือกับฝ่ายวิชาการและเลขาธิการสมาคม เพื่อจัดทำสื่อ 
การเรียนการสอนสำหรับเผยแพร่ ฯลฯ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ 
สมาคม
13.6 เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับราย 
จ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆของสมาคม 
ไว้เพื่อตรวจสอบ
13.7 ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัด 
เตรียมสถานที่ของสมาคม และจดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆของสมาคม
13.8 นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคมประสานงานกับ 
เหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
13.9 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและ 
บุคคลทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
13.10 การศึกษาแพทย์ต่อเนื่อง ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลสถิติเกี่ยวกับหน่วยกิตในการศึกษาต่อ 
เนื่องของแพทย์ที่เป็นสมาชิก เก็บบันทึก และนำเสนอประสานงานต่อศูนย์ 
การศึกษาต่อเนื่องของแพทย์สภา โดยประสานงานกับฝ่ายเลขาธิการและ
ฝ่ายวิชาการของสมาคม
13.11 กรรมการกลาง ทำหน้าที่ช่วยเหลือคณะกรรมการสมาคม ในด้านต่างๆ ตามที่ได้รับมอบ 
หมาย คณะกรรมการชุดแรก ให้ผู้เริ่มจัดตั้งสมาคมเป็นผู้เลือกตั้ง ประกอบด้วยนายกสมาคม และกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคม
ข้อ 14 คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ
ข้อ 15 ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น
ข้อ 16 กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้คือ
16.1 ตาย
16.2 ลาออก
16.3 ขาดจากสมาชิกภาพ
16.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
ข้อ 17 กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ 
และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก
ข้อ 18 อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ
18.1 มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
18.2 มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
18.3 มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
18.4 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
18.5 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังไม่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
18.6 มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
18.7 มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
18.8 มีหน้าที่ให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด ฯลฯ ได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
18.9 มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
18.10 จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ
18.11 มีหน้าที่อื่นๆตามที่ข้อบังคับกำหนดไว้
ข้อ 19 คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อย 4 เดือนต่อครั้ง เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม โดยให้จัดขึ้นภายในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนที่กำหนด โดยเลขาธิการจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าถึง วัน-เวลา ที่จะประชุม ส่วนการประชุมย่อยทางวิชาการสำหรับสมาชิกจะจัดเป็นประจำทุกเดือนตามความเหมาะสม โดยประธานวิชาการและเลขาธิการของสมาคมจะเป็นผู้กำหนดวัน-เวลา และสถานที่ที่จะประชุมและแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 สัปดาห์
ข้อ 20 การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรมการทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 21 การประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรื่อไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมครั้งนั้น


หมวดที่ 4 การประชุมใหญ่
ข้อ 22 การประชุมใหญ่ของสมาคม มี 2 ชนิดคือ
22.1 การประชุมใหญ่สามัญ
22.2 การประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ 23 คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ 1 ครั้ง ภายในเดือนตุลาคม (หรือเดือนอื่นที่คณะกรรมการพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสมในแต่ละปี ) ของทุกปี
ข้อ 24 การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจกระทำได้ดังต่อไปนี้
24.1 คณะกรรมการอำนวยการเห็นสมควรให้เรียกประชุม
24.2 สมาชิกสามัญ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คนทำหนังสือถึงเลขาธิการขอร้องให้จัดมีขึ้น
ข้อ 25 การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุ วัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่
ข้อ 26 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้ 
26.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
26.2 แถลงบัญชี รายรับรายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
26.3 เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ
26.4 เลือกตั้งผู้สอบบัญชี
26.5 เรื่องอื่นๆ ถ้ามี
ข้อ 27 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญ เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมแระชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 14 วันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก สำหรับในการประชุมในครั้งหลังนี้ ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิกก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก
ข้อ 28 การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด และให้เลขาธิการเป็นผู้จดบันทึกรายงานการประชุม และให้ประธานของที่ประชุมลงนามรับรองเพื่อรักษาไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ 29 ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรื่อไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ทีประชุมใหญ่ทำการเลือกทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น


หมวด 5 การเงินและทรัพย์สิน
ข้อ 30 การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้เหรัญญิกเป็นผู้เก็บและให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ใน บัญชีออมทรัพย์ธนาคารทหารไทย สาขาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ชื่อบัญชี “ สมาคมรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย” 
หมายเลขบัญชี 038 - 2 - 64731 - 1
ข้อ 31 การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทนลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขาธิการ
ข้อ 32 ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 50,000.00 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการและคณะกรรมการจะอนุมัติจ่ายได้ครั้งละไม่เกิน 100,000.00 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม
ข้อ 33 ให้เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน 20,000.00 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้
ข้อ 34 เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลยมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน
ข้อ 35 ผู้สอบบัญชีจะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต
ข้อ 36 ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่ที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้
ข้อ 37 คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้อง


หมวดที่ 6 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม
ข้อ 38 ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด
ข้อ 39 การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด
ข้อ 40 เมื่อสมาคมต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุใดๆก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ตกเป็นของนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน หรือการกุศลสาธารณะประโยชน์อย่างอื่นตามแต่ที่ประชุมใหญ่จะเห็นควร


หมวดที่ 7 บทเฉพาะกาล
ข้อ 41 ข้อบังคับฉบับนี้นั้น ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป
ข้อ 42 เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่า ผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นรา แววศร 
ผู้จัดทำข้อบังคับ