แนวทางการดำเนินการบริบาลผู้ป่วยในช่วงโรคระบาด (COVID-19)


 

สารจากนายกสมาคมรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย

สืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดเชื้อโควิด-19 ในขณะนี้กระจายไปทุกภาคของประเทศไทย เป็นที่ทราบกันดีว่าภาวะโรคระบาดนี้จะทำให้สถานะการณ์เลวร้ายลงอย่างมากถ้าจำนวนผู้ป่วยป่วยหนักมีจำนวนล้นเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่จะรองรับได้ ประเทศชาติจำเป็นต้องรักษาความมั่นคงของระบบสุขภาพไว้เพื่อต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาดนี้ให้ผ่านพ้นไปให้ได้ ดังนั้นทางสมาคมรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย ในฐานะที่มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยโรคหลอดเลือด ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 จึงได้วางเป้าประสงค์ และแนวทางการดำเนินการบริบาลผู้ป่วยในช่วงโรคระบาดดังนี้

เป้าประสงค์

  1. ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยที่มารับการบริบาลมาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากการติดเชื้อจากบุคลากรทางการแพทย์สู่ผู้ป่วยหรือการติดเชื้อจากโรงพยาบาล จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง มีผลทำให้ศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยลดลง และสถานการณ์จะเลวร้ายลงได้
  2. จำเป็นต้องรักษาความมั่นคงของระบบสุขภาพให้ฝ่าวิกฤตินี้ไปได้ และมองถึงภาพรวมของสถานการณ์ไม่เพียงแต่คนไข้ของตนเท่านั้น

สำหรับแนวทางการบริหารผู้ป่วยและแนวทางการปฏิบัติในการทำหัตถการและการบริบาลผู้ป่วยนั้นให้ปฏิบัติตามรายละเอียดแนบท้าย

นพ. อรรควัชร์ จันทร์ฉาย
นายกสมาคมรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย
22 มีนาคม 2563

 

รายละเอียดแนบท้าย

  1. แนวทางการดำเนินงานในสถานการณ์ปัจจุบัน (ระยะการระบาดที่ 2 ช่วงท้ายสุด) และกรณีเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3
    1. ให้สำรวจผู้ป่วยที่นัดไว้ และจัดกลุ่มเป็น 5 กลุ่มคือ ผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยเร่งด่วน ผู้ป่วยมะเร็งไม่เร่งด่วน ผู้ป่วยที่ไม่ใช่มะเร็งไม่เร่งด่วน ผู้ป่วยใหม่
    2. สำรวจทรัพยากรทางการแพทย์ เช่น เลือดหรือส่วนประกอบเลือด เวชภัณฑ์ ว่าเพียงพอต่อการใช้งานในระยะเวลาที่อาจจะมีการระบาดเป็นเวลานานหรือไม่
    3. ให้จัดหาเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น ที่จะต้องใช้หากมีจำนวนผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไว้ให้พร้อม เช่น ชุด PPE หน้ากาก N95 หน้ากากป้องกัน (face shield) ถุงมือ และจัดระบบการใช้ให้ไม่สิ้นเปลือง
    4. ให้แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และพิจารณาการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในการรับคำปรึกษาระหว่างทีมแพทย์ และช่วยจำกัดความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อสู่ชุมชน และอาจพิจารณาการดำเนินงานแบบ cohorting team คือ แบ่งทีมการรักษาออกเป็นทีมสองทีมหรือมากกว่าขึ้นปฏิบัติงานสลับกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อข้ามกลุ่มและป้องกันการหยุดการให้บริการ
    5. ให้วางแผนการใช้คนในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ให้น้อยที่สุดแต่ยังคงรักษาประสิทธิภาพ ให้มอบหมายหน้าที่ และซักซ้อมการดำเนินงานให้พร้อมเผื่อมีกรณีฉุกเฉิน
    6. ให้วางแผนการดำเนินงานในการเข้าสู่ระยะที่สาม และให้ปฏิบัติดังนี้
      1. ให้ทำการคัดกรองผู้ป่วยทุกรายว่าเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือไม่ หรือ เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วยเข้าข่าย/ยืนยัน โดยให้อ้างอิงตามเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
      2. ให้ปฏิบัติตามแนวทางการบริหารจัดการผู้ป่วยดังนี้

กลุ่มผู้ป่วย

การปฏิบัติในระยะที่ 2 ช่วงท้ายสุด

การปฏิบัติในระยะที่ 3

ผู้ป่วยฉุกเฉิน

ให้ทำการรักษาตามศักยภาพอย่างเหมาะสม

ให้ทำการรักษาตามศักยภาพอย่างเหมาะสม

ผู้ป่วยเร่งด่วน

ให้ทำการรักษาตามศักยภาพอย่างเหมาะสม

ให้ทำการรักษาเฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น (อ้างอิงตามประกาศกรมการแพทย์)

ผู้ป่วยมะเร็งไม่เร่งด่วน

ผู้ป่วยมะเร็งที่นัดไว้แล้ว ให้ทำการรักษาตามนัดเดิมและคำนึงถึงความปลอดภัยและโอกาสที่ผู้ป่วยจะติดเชื้อจากสถานพยาบาล

ในกรณีที่โรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานอยู่ มีความขาดแคลนหรือใกล้ที่จะขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์ เช่น เลือดหรือส่วนประกอบเลือด หรือ เวชภัณฑ์ ให้พิจารณาการรักษาด้วยวิธีทางเลือกอื่นเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบสุขภาพโดยรวม

ให้ทำการรักษาเฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น (อ้างอิงตามประกาศกรมการแพทย์)

ผู้ป่วยที่ไม่ใช่มะเร็งไม่เร่งด่วน

ให้เลื่อนการรักษาออกไปก่อน หรือพิจารณาการรักษาทางเลือกอื่น ทั้งนี้ให้คำนึงถึงภาวะของผู้ป่วย และภาพรวมของระบบ

ให้ทำการรักษาเฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น (อ้างอิงตามประกาศกรมการแพทย์)

ผู้ป่วยใหม่

แจ้งผู้ป่วยทราบถึงสถานการณ์และข้อจำกัดของระบบสาธารณสุขและนัดทำการรักษานัดทำการรักษาตามตารางที่จะไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในภาวะที่เตรียมพร้อมที่จะเข้าระยะที่ 3 ตามความเหมาะสมและวิจารณญาณของแพทย์

ให้พิจารณาการรักษาทางเลือกอื่นหรือส่งต่อการรักษา หากระยะเวลาการรอคอยนานและมีผลกระทบต่อภาวะโรคของผู้ป่วย

ให้ทำการรักษาเฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น (อ้างอิงตามประกาศกรมการแพทย์)

 

  1. แนวทางการปฏิบัติในการทำหัตถการ

พยายามจัดกลุ่มผู้ป่วยไม่ให้ปะปนกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อข้ามกลุ่ม และพยายามทำแยกการนัดทำการรักษาระหว่างกลุ่มผู้ป่วยใน (IPD) และ ผู้ป่วยนอก (OPD) ออกจากกันเช่น นัดทำคนละช่วงเวลาเช้าบ่าย ภายหลังจากได้ทำความสะอาดพื้นที่แล้ว สำหรับการปฏิบัติในผู้ป่วยที่มีระดับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ให้ปฏิบัติดังนี้

กลุ่มผู้ป่วยตามระดับความเสี่ยง

การปฏิบัติในระยะที่ 2 ช่วงท้ายสุด

การปฏิบัติในระยะที่ 3

ผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่มีภาวะเสี่ยง COVID-19

ทำหัตถการโดยการปฏิบัติและใช้อุปกรณ์ทางการ
แพทย์แบบสถานการณ์ปกติ

ให้ปฏิบัติแบบเดียวกับผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19

ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง COVID-19 และ มีภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์

ให้ปฏิบัติแบบเดียวกับผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19

ให้ปฏิบัติแบบเดียวกับผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19

ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง COVID-19 และ ไม่มีภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์

ให้รอผลตรวจ COVID-19 ก่อน

  • ถ้าผลแสดงถึงการติดเชื้อให้เลื่อนการทำหัตถการออกไปก่อน (หรือยกเลิกในรายที่ไม่จำเป็นหรือมีทางเลือกอื่น)
  • ถ้าผลออกมาเป็นผลลบ ให้นัดทำตามตารางเดิม

ให้ปฏิบัติแบบเดียวกับผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19

 

สำหรับการทำหัตถการในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19  ให้ปฏิบัติดังนี้

  1. ให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากชนิด N95 หรือ surgical mask ทุกราย
  2. แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมทำการรักษา ให้ใส่อุปกรณ์ PPE ตามประกาศกรมควบคุมโรค
  3. พิจารณาใช้บุคลากรทางการแพทย์ร่วมทำหัตถการให้น้อยที่สุด
  4. พิจารณาใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ครั้งเดียว (Disposable)
  5. ใช้แผ่นพลาสติกปกคลุมอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เช่น เครื่องอัลตร้าซาวนด์ เตียงและส่วนต่างๆของเครื่องฟลูออโรสโคปี้ที่จะสัมผัสกับผู้ป่วยหรืออาจปนเปื้อนสารคัดหลั่ง
  6. หลังทำหัตถการเสร็จให้นำผู้ป่วยกลับหอผู้ป่วยโดยไม่ต้องเข้าห้องพักฟื้น
  7. หลังทำหัตถการเสร็จให้บุคลากรทุกคนถอดชุดป้องกันให้ถูกวิธีตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค และทิ้งชุดอุปกรณ์และขยะทั้งหมดในถุงขยะติดเชื้อ
  8. หลังเสร็จสิ้นหัตถการบุคลากรทุกคนควรอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที

 

 อ้างอิง

  1. COVID-19 Clinical Notification from the Society of Interventional Radiology. https://www.sirweb.org/practice-resources/covid-19-resources/covid-19-clinical-notification/
  2. แนวทางดำเนินงาน โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19). https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/g_srrt.php